วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009



การติดต่อและวิธีการป้องกันโรค จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้คำแนะนำในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1 เอ็น1) ดังต่อไปนี้

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

2. ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น

3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น

6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม และรับประทานอาหารได้ สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ

2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม

4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม

5. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม ควรรีบไปพบแพทย์

คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา

1. แนะนำให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

2. ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน หากพบขาดเรียนผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

3. แนะนำให้นักเรียนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

4. หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวั
ดใหญ่ทุกคนหยุดเรียนได้ ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา แต่หากจะพิจารณาปิดสถานศึกษา ควรหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

คำแนะนำสำหรับสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน
1. แนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

2. ตรวจสอบจำนวนพนักงานที่ขาดงานในแต่ละวัน หากพบขาดงานผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในแผนกเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

3. แนะนำให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

4. ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่แนะนำให้ปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

6. ควรจัดทำแผนการประคองกิจการในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง หากเกิดการระบาดใหญ่

ขั้นตอนการใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูกที่ถูกวิธีนั้น มีขั้นตอนดังนี้

1.ก่อนสวมหน้ากากอนามัย ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด
2.สวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งจมูกและปาก หน้ากากควรมีความกระชับเมื่อสวมใส่ แนบไปกับใบหน้าตั้งแต่จมูกถึงคาง ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก ถ้ามีลวดอยู่ในขอบบนของหน้ากากให้หนีบแนบไปกับสันจมูก
3.ระหว่างใส่หน้ากากอนามัย ไม่ควรเอามือจับด้านหน้าของหน้ากาก เพราะจะเปื้อนเชื้อที่ติดอยู่ได้
4.เวลาถอดให้จับเฉพาะห่วงคล้องหูหรือสายผูก เพราะด้านหน้าและด้านหลังของหน้ากากอาจมีเชื้อโรคอยู่ ทิ้งหลังจากที่ใช้แล้วและล้างมือให้สะอาด
5.หน้ากากอนามัยชนิดทำจากผ้า สามารถซักเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ควรซักให้สะอาดด้วยน้ำและผงซักฟอก และตากแดดให้แห้ง
6.หากใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากกระดาษ ควรเปลี่ยนทุกวัน และทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วลงถังขยะที่มีฝาปิด

7.หากหน้ากากอนามัยมีการปนเปื้อนหรือชำรุด ควรเปลี่ยนอันใหม่ทันที

6 ขั้นตอน ล้างมือสู้หวัด






วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของลิง คนไม่เกี่ยว


ลิงกัง
Pig-tailed Macaque
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Macaca nemestrina

ลักษณะทั่วไป เป็นลิงที่มีรูปร่างอ้วนสั้น ขนสั้นสีเทาหรือสีน้ำตาล หน้าค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้นมีสีเทาหรือ สีน้ำตาล และขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนตรงส่วนใต้ท้องมีสีจางจนเกือบขาว หางค่อนข้างสั้น ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีขนปรกหน้าผากน้อยกว่าลิงตัวผู้
ถิ่นอาศัย, อาหาร ลิงกังพบในอัสสัม พม่า ไทย มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว สำหรับประเทศไทยพบทั่วไปแทบทุกภาค พบมากตั้งแต่ราชบุรี เพชรบุรี จนถึงภาคใต้ ลิงกังชอบกินผลไม้ เมล็ดพืช และแมลงเป็นอาหาร เวลากินอาหารมักชอบเก็บไว้ข้างแก้มแล้วค่อยๆ เอามือดันอาหารที่เก็บไว้ออกมากินทีละน้อย พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบบริเวณเชิงเขา ชอบท่องเที่ยวไปเรื่อย ไม่ค่อยอยู่เป็นที่ บางตัวออกหากินตัวเดียว ไม่รวมฝูง ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ชอบส่งเสียงร้องและมักร้องรับกันทั้งฝูง ลิงกังเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 3-4 ปี ผสมพันธุ์ทุกฤดู ระยะตั้งท้องประมาณ 5-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีอายุยืนราว 25 ปี ตัวผู้หรือแต่ละตัวอาจผสมพันธุ์กับตัวอื่นได้หลายตัว และไม่อยู่เป็นคู่แน่นอน

ลิงมัวร์
Moor Macaque
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Macaca maura
ลักษณะทั่วไป
เป็นลิงที่มีรูปร่างใหญ่ แข็งแรง ขนตามลำตัวมีสีเทาอมดำ บริเวณแขนและขา และด้านท้ายของตะโพกขนจะมีสีอ่อนกว่า โดยทั่วไปจะเป็นสีเทา เมื่อยืนอยู่กับพื้นจะยืนทั้งสี่ขา มีความสูงถึงช่วงไหล่ประมาณ 40 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวตั้งแต่หัวถึงโคนหางประมาณ 65 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 18 - 32 กิโลกรัม หัวมีขนาดใหญ่ คิ้วจะเป็นสันยื่นออกมาเห็นได้ชัด มือและเท้าแบน เวลาใช้มือยันพื้นนิ้วหัวแม่มือจะยื่นเข้าหาลำตัว เล็บมือและเล็บเท้าแบน ตรงก้นมีแผ่นหนังซึ่งปราศจากขน ซึ่งเรียกว่า “แผ่นรองก้น” มี 2แผ่นและเป็นสีชมพู เป็นลิงหางสั้น ยาวแค่ประมาณ 1.5 นิ้ว ส่วนใหญ่หางจะพับ ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็น

ถิ่นอาศัย, อาหาร เกาะซีลีบีส ประเทศอินโดนีเซีย อาหารของลิงมัวร์ได้แก่ ใบไม้ ผลไม้ หน่ออ่อนของต้นไม้ หมูป่า กวาง แมลง รวมทั้งสัตว์เล็ก
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีนิสัยดุร้าย ชอบเดินหากินบนพื้นดินมากกว่าขึ้นต้นไม้ จะหลบขึ้นต้นไม้ก็ต่อเมื่อหลบหนีศัตรู หรือนอนพักผ่อน บางครั้งฝูงลิงมัวร์จะช่วยกันล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น หมูป่า กวาง เป็นต้น ลิงมัวร์พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 5 ปี ตัวเมียตั้งท้องนานประมาณ 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะเกาะอยู่ที่อกของแม่เพื่อดูดนม อายุประมาณ 10 เดือนจึงหย่านม และมีอายุยืนราว 30 ปี


ลิงบาบูน
Chacma Baboon
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Papio ursinus
ลักษณะทั่วไป รูปร่างค่อนข้างใหญ่ ขนตามตัวสีน้ำตาล ขนค่อนข้างหยาบ หน้าดำ หูมีขนน้อย แต่ตัวผู้ขนตรงรอบคอและไหล่ยาว และมีขนปรกที่ปาก ร้องเสียงดัง วิ่งเหมือนม้าควบ ว่ายน้ำเก่ง
ถิ่นอาศัย, อาหาร พบในแอฟริกาใต้ กินสัตว์เล็ก ๆ ซากสัตว์และแมลงต่าง ๆ อีกทั้งผักและ ผลไม้ทุกชนิด
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีจำนวนเป็นร้อยอาจถึง 200-300 ตัว มีหัวหน้าเป็นตัวผู้ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมสังคมของมันให้เป็นระเบียบ ในเวลากลางคืนชอบนอนในถ้ำ ซอกหิน หรือ บนกิ่งไม้ใหญ่ ลิงบาบูนไม่ค่อยพบในป่าทึบ ชอบอยู่ตามเขาที่เป็นหินมีต้นไม้น้อย เนื่องจากว่าลิงบาบูนขึ้นต้นไม้ไม่เก่ง ลิงบาบูนผสมพันธุ์เป็นคู่ ไม่ปะปนกัน ตั้งท้องประมาณ 6-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอยู่กับแม่ตลอดเวลา บางครั้งพ่อจะช่วยดูแลลูก เมื่อลูกยังเล็กจะอยู่ที่อกแม่และดูดนมแม่ เมื่อโตขึ้นมาหน่อยจะเปลี่ยนขึ้นมาเกาะหลังแม่ ลิงบาบูนมีอายุยืนราว 20 ปี

ลิงชิมแปนซี
Chimpanzee
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Pan troglodytes

ลักษณะทั่วไป เป็นลิงที่ไม่มีหาง คล้ายคนมาก แขนและขามีความยาวพอ ๆ กัน สมองเจริญมากทำให้เฉลียวฉลาดกว่าอุรังอุตังและกอริลล่า มีเชาว์ปัญญาเกือบเท่ามนุษย์ สามารถเดินตรงได้แต่นิ้วเท้าจะหันไปข้างนอก เวลาเดินตัวจะเอนไปข้างหน้า แขนตรง และวางข้อมือลงบนพื้น นานๆ ครั้งจะเดิน 2 เท้าแบบมนุษย์ ซึ่งในการเดินแบบนี้ ลิงชิมแปนซีจะเอามือไว้ข้างหลังเพื่อช่วยในการทรงตัว หรือชูมือทั้ง 2 ข้างขึ้นสูง ตัวผู้สูงราว 5 ฟุต ส่วนตัวเมียสูงราว 4 ฟุต เวลากินน้ำจะใช้ปากก้มลงดื่มโดยตรง ไม่ใช้มือจุ่มน้ำขึ้นมาเหมือนชะนี ว่ายน้ำไม่เป็น มีความจำดีมาก มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับคน

ถิ่นอาศัย, อาหาร พบในทวีปแอฟริกา มีอยู่ 3 พันธุ์ คือชนิดหน้าขาวหรือน้ำตาลจาง ชนิดหน้าดำหรือน้ำตาลไหม้และชนิดแคระซึ่งเป็นชนิดที่หายากกว่าชนิดอื่น ลิงชิมแปนซีอยู่กระจายกันตั้งแต่เซราเลโอนไปตามแนวชายฝั่งตะวันตกของทวีปข้ามไปถึงทะเลสาบเกรท (Great Lake) ทางตะวันออกของคองโก กินผลไม้ ใบไม้ ผัก เป็นอาหาร กินเนื้อได้บ้างเล็กน้อย
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง พักอาศัยอยู่บนต้นไม้ เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวเวลาอยู่บนต้นไม้ ในฝูง ๆ หนึ่งจะมีตัวผู้เป็นพ่อตัวหนึ่ง ตัวเมียอาจมีตัวเดียวหรือหลายตัวรวมทั้งพวกลูก ๆ มันสร้าง "รังนอน" ของมันไว้บนต้นไม้ โดยเฉพาะบนคาคบไม้ซึ่งมันจะทำพื้นของรังให้เรียบ ด้านบนมีกิ่งไม้ใบไม้ปกคลุมบังอยู่ มันจะใช้ "รัง" นี้เป็นที่อาศัยพักผ่อนหลับนอนในตอนกลางคืน ชอบตื่นแต่เช้าตรู่ ฉลาดมาก สามารถเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของคนได้เกือบทุกอย่าง เช่นสวมเสื้อเองได้ กินอาหารและดื่มน้ำบนโต๊ะได้ เป็นต้น ชิมแปนซีเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 7-9 ปี เป็นสัดทุก ๆ 33-38 วัน ระยะเวลาสำหรับการผสมพันธุ์นาน 3 วัน ตั้งท้องนานประมาณ 230 วัน ลูกจะอยู่กับแม่นาน 1-2 ปี และมีอายุยืนประมาณ 40 ปี